การเลือกใช้ “ซิลิโคน” ยาแนวอเนกประสงค์กันรั่วซึม มีวัสดุอยู่หลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการกันรั่วซึมที่สถาปนิกแนะนำให้ใช้ และบรรจุอยู่ในรูปของหลอดที่มีรูปทรงเดียวกัน ซึ่งเราเหมาเรียกเหมือนกันหมดว่า “Silicone” (เหมือนกับที่เราๆท่านๆเรียกผงซักฟอกทุกชนิดว่า “แฟ้บ”)

**กลุ่มแรกเป็นพวกสารอะครีลิก (ACRYLIC) อะครีลิก ความจริงเป็นกาวตระกูลหนึ่งใช้กันมากในอุตสาหกรรมสี มีความเหนียว และยืดหยุ่นดีเมื่อแห้งแล้ว ไม่ละลายน้ำและทำตัวเป็นแผ่นฟิล์ม จึงมักมีการนำมาบรรจุหลอดให้เราใช้เป็นสารอุดกันรั่วซึมได้นอกจากนี้ในตลาดมีวางขายในรูปแบบลักษณะเป็นกระปุกอีกด้วย

**กลุ่มที่สองเป็นพวกสารโพลียูเรเทน(POLY URETHANE) โพลียูเรเทน เป็นสารตระกูลไฮโดรคาร์บอน (H-C) มีการยึดเกาะกันของโมเลกุลที่เหนียวแน่น มีอยู่หลายสถานะและรูปแบบ ทำให้เราคุ้นหูและสับสนได้ง่าน เชน ยูเรเทนรักษาเนื้อไม้

**กลุ่มที่สามเป็นพวกสารซิลิโคน(SILICONE) ซิลิโคน เป็นโพลีเมอร์ที่เกิดจากพวกซิลีก้อนและออกซิเจน (Si-O) ความยืดหยุ่นตัวสูงมาก มีความแข็งแรงทางโครงสร้าง ทำให้มีการพัฒนารูปแบบการใช้จาก SEALANT SILICONE ไปจนถึง STRUCTURAL SILICONE และอีกมากมาย เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าสารทั้งสามชนิดที่กล่าวถึงนี้มีพื้นฐานที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้งานที่คล้ายคลึงกัน คือ มีคุณสมบัติเป็นกาวที่ใช้ยึดเกาะได้ดี มีความสามารถยืดได้ หดได้ เมื่อมีแรงมากระทำหรือมาดึงโดยไม่ฉีกขาดในระดับหนึ่ง เมื่อแห้งจะทำตัวคล้ายแผ่นฟิล์มยึดเกาะหรือคลุมทับ การเลือกใช้สารสารอุดรอยรั่วซึม-แตกร้าว การตัดสินใจเลือกว่าจะใช้สารตัวใดในการซ่อมบำรุงรอยแตกร้าว หรือช่วงว่างระยะห่างของอาคารจึงค่อนข้างมีความสับสน ทางสถาปนิกผู้รู้ มักแนะนำคนใฝ่รู้แบบเราๆท่านๆว่า “ซิลิโคน” มีความยืดหยุ่นสูงกว่าสองพวกแรกมีความแข็งแรงเชิงโครงสร้างมากกว่าคงทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า เพียงแต่ว่าพวกซิลิโคนนี้ทาสีไม่ติด ที่สำคัญซิลิโคนมีการพัฒนาแตกแขนงออกมามาก ทำให้การเลือกการใช้งานต้องมีความเข้าใจ ในลักษณะเฉพาะ ค่อนข้างสูง เช่น ถ้าเป็นซิลิโคนที่สภาพการแห้งเป็นกรด (ACID CURE) ก็ไม่เหมาะกับผนังที่มีสภาพเป็นด่าง เช่น ผนังปูน ผนังหินอ่อน ผนังหินแกรนิต เพราะอาจทำให้คุณสมบัติที่ดีของซิลิโคนผิดเพี้ยนไป การพิจารณาเลือกใช้ควรเลือกซิลิโคนที่มีสภาพการแห้งเป็นกลาง (NATURE CURE) จะให้ผลที่ดีกว่า และลักษณะการใช้ซิลิโคนตามคำแนะนำของผู้ผลิตมักแนะนำให้ใช้ในลักษณะเป็นตัวกลางกั้นระหว่างผิววัสดุที่กั้นน้ำได้ดี อีกทั้งต้องมีระยะห่างกันประมาณ 4-6 มิลลิเมตร เป็นต้น จะเห็นได้ว่าต้องพิถีพิถันกันพอสมควร แต่หากเป็น Polyurethane หรือ Acrylic พวกนี้จะใช้งานในลักษณะยิงอุดจนเต็มรอยแตกร้าว และปิดทับได้ดีกว่า อีกทั้งยังทาสีติดเพื่อเก็บงานให้ดูเรียบร้อยได้ดี ถึงแม้ทางด้านคุณสมบัติต่างๆจะด้อยกว่า ซิลิโคนก็ตาม หากถ้าเป็นการเก็บซ่อมรอยแตกร้าวที่ผิวผนังปูนฉาบต่างๆ จะมีความเหมาะสมในการใช้งานมากกว่าซิลิโคน เพราะเงื่อนไขในการหยิบมาใช้มีให้พิจารณาน้อยกว่าพวกซิลิโคน โดยถ้ารอยแตกร้าวมีโอกาสขยับตัวได้สูง แล้วต้องการความแข็งแรงในการยึดแน่น ควรใช้เป็นโพลียูเรเทน จะมีคุณสมบัติเหมาะสมกว่าพวกอะครีลิกเพราะในแง่ความแข็งแรงทางโครงสร้างพวกอะครีลิกจะมีน้อยกว่านั่นเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *